บล็อกเชน (Blockchain) คืออะไร ใช้ทำอะไรได้บ้าง?

บล็อกเชน (Blockchain) คือรูปแบบของการเก็บข้อมูล ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน อีกทั้งแต่ละคนยังสามารถแชร์ข้อมูลให้กันได้อีกด้วย โดยหลักการทำงานของบล็อกเชน (Blockchain) จะจัดเก็บข้อมูลเป็นส่วน ๆ ลงไปในแต่ละบล็อก (Block) และนำมาร้อยต่อกันเรื่อย ๆ เหมือนโซ่คล้องกัน (Chain) โดยมีการเข้ารหัสทางคอมพิวเตอร์เพื่อความปลอดภัย และมีการเก็บประวัติต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำธุรกรรมต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันและเก็บบันทึกข้อมูลทั้งหมดส่งและกระจายเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อยู่ในเครือข่ายพร้อม ๆ กันครับ

บล็อกเชน Blockchain คืออะไร

นอกจากนี้ เมื่อธุรกรรมต่าง ๆ ถูกบันทึกลงไปในแต่ละบล็อก (Block) แล้ว จะไม่มีใครสามารถที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ได้ เพราะทุกคนต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมทั้งหมดอยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของตัวเอง การทำธุรกรรมของใครคนหนึ่ง ทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายจะมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและยืนยันในการทำธุรกรรมที่เกิดขึ้นทั้งหมด และเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง ก็จะได้รับอนุญาตให้ดำเนินการและบันทึกเก็บลงในบล็อก (Block) ถัดไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ที่ใครจะมาปลอมแปลงหรือแก้ไขข้อมูล โดยปราศจากการรับรู้จากผู้คนส่วนใหญ่ครับ

ดังนั้น ข้อมูลที่ถูกบันทึกลงไปในแต่ละบล็อก (Block) แล้ว จึงมีความน่าเชือถือเพราะทุกคนในเครือข่ายจะเห็นการเปลี่ยนแปลงพร้อม ๆ กัน ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครสามารถแก้ไขข้อมูลตัวเลขหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ เพียงเครื่องเดียวได้ ถ้าใครอยากจะแก้ไขก็มีทางเดียวคือต้องไปแก้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของทุกคนที่อยู่ในเครือข่ายเท่านั้น ซึ่งเป็นไปได้ยากมากครับ

บล็อกเชน (Blockchain) ใช้ทำอะไรได้บ้าง?
ในปัจจุบัน บล็อกเชน (Blockchain) ถูกนำไปใช้ในวงการอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากมายไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเงิน อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงพยาบาล ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจพลังงาน เป็นต้น โดยส่วนใหญ่ใช้เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการทำธุรกรรมเป็นหน้าที่หลักเช่น โรงพยาบาลนำ บล็อกเชน (Blockchain) มาเก็บข้อมูลการรักษาของคนไข้ ตรวจสอบที่มาของยาแต่ละชนิด ป้องกันการปลอมแปลง, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นำ บล็อกเชน (Blockchain) มาเก็บเอกสารสัญญาต่าง ๆ ข้อมูลเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้แล้วในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหรือสกุลเงินดิจิทัล ก็ได้นำบล็อกเชน (Blockchain) ไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกรรมทางการเงินเพื่อเพิ่มความปลอดภัยและมีความน่าเชื่อถืออีกด้วยครับ

Share

Contact Us