2 ธนาคารพาณิชย์ ทดสอบการใช้ Retail CBDC ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้อนุญาตให้ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC หรือ เงินบาทดิจิทัล สำหรับประชาชนแล้ว โดยจะเริ่มการทดสอบในระหว่างเดือน มิถุนายน ถึง เดือนสิงหาคม 2566 และนอกจากธนาคารพาณิชย์ทั้งสองแห่งแล้วยังมี บริษัท ทูซีทูพี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ได้รับอนุญาตอีกรายหนึ่งด้วย

Retail CBDC

สำหรับการใช้จ่ายเงินบาทดิจิทัล หรือ Retail CBDC นั้น ในช่วงแรกของการทดสอบนั้นจะอยู่ในวงจำกัดหรือเป็นการกำหนดกลุ่มผู้ทดสอบ ซึ่งธนาคารจะให้ผู้เข้าร่วมทดสอบใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน Wallet CBDC โดยชื่อแอปที่ใช้ในช่วงทดสอบครั้งนี้ ทางธนาคารไทยพาณิชย์ใช้ชื่อ “CBDC SCB Wallet” ส่วนทางธนาคารกรุงศรีอยุธยาใช้ชื่อ “CBDC Krungsri”

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า กรุงศรีได้เริ่มทดสอบการใช้ Retail CBDC ตั้งแต่ต้นเดือน มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานพระราม 3 และอยู่ระหว่างขยายการใช้งานไปยังสาขาเพลินจิต โดยปัจจุบันมีพนักงานประมาน 2,000 คน และร้านค้าประมาณ 100 ร้านค้า เข้าร่วมการทดสอบ

Retail CBDC

“การใช้ Retail CBDC ยังอยู่ในขั้นตอนของการทดสอบ เราจึงใช้แอป CBDC Krungsri แยกออกมาเพื่อไม่ให้ผู้ใช้เกิดความสับสน โดยในการทดสอบตั้งแต่ต้นเดือนที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาจาการใช้งาน และในระยะต่อไปอาจนำกระเป๋าเงิน CBDC เข้าไปรวมไว้แอปพลิเคชั่น KMA ” นายแซม กล่าว

ขั้นตอนการใช้งาน แอปพลิเคชัน “CBDC Krungsri” เพื่อใช้ในการทดสอบ
1. ผูกบัญชีธนาคารไว้กับแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถแปลงเงินบาทเป็น CBDC หรือเงินบาทดิจิทัล ( 1 บาท มีค่าเท่ากับ 1 CBDC )
2. จากนั้นเข้าไปที่แอปพลิเคชันแล้วแปลงเงินบาทจากบัญชีที่ผูกไว้เป็นเงินดิจิทัลในจำนวนที่ต้องการ
3. เลือกสแกนจ่าย และนำไปสแกน QR Code ของทางร้านค้าที่เข้าร่วมการทดสอบ ( QR Code ที่ใช้สำหรับ Retail CBDC เท่านั้น )

Retail CBDC

โดยการทดสอบใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้เพื่อต้องการทดสอบความเสถียรของระบบเช่น การรองรับการทำธุรกรรมปริมาณมาก การแลกเงินกลับจากบาทดิจิทัลเป็นเงินบาทปกติ โดยหลังจากเสร็จสิ้นการทดสอบธนาคารกรุงศรีอยุธยาจะรายงานผลไปยัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต่อไป

อย่างไรก็ดีหากภายหลังจากการเปิดให้ประชาชนได้ใช้ Retail CBDC อย่างเป็นทางการแล้ว อาจจะต้องมีการให้ความรู้แก่ประชาชนและร้านค้า รวมถึงต้องสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ Retail CBDC กันมากขึ้นเช่น การให้ส่วนลดหรือการให้เงินคืน

ทั้งนี้แม้ว่าการใช้ Retail CBDC จะอาจมีความคล้ายกับการใช้จ่ายผ่านพร้อมเพย์ แต่การใช้ Retail CBDC มีประโยชน์ที่ต่างไปจากพร้อมเพย์เช่น

– การทำรัฐสวัสดิการ หากใช้ Retail CBDC จะทำให้สามารถจำกัดการใช้จ่ายให้ตรงตามวัตถุประสงค์ได้เช่น การให้สวัสดิการแก่นักเรียนสามารถจำกัดการใช้งานได้ว่า Retail CBDC ที่ได้ไปต้องใช้จ่ายในร้านที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถจ่ายกับร้านค้าอื่น ๆ ได้

– ในการให้สินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ของสถาบันการเงินจะสามารถควบคุมได้ จากเดิมที่ปัจจุบันเมื่อลูกค้าได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วสถาบันการเงิน อาจจะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ขอสินเชื่อได้นำไปใช้ตามวัตถุประสงค์หรือไม่ แต่หากใช้ Retail CBDC จะทำให้สามารถควบคุมได้เช่น ผู้ขอสินเชื่อจะใช้ Retail CBDC ได้เฉพาะกับร้านที่เกี่ยวข้องเช่น ร้านอุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เท่านั้น

– ลดต้นทุนการผลิตธนบัตรและเหรียญ ซึ่งการทดสอบการใช้ Retail CBDC ในครั้งนี้ เรียกได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยมีระบบการชำระเงินแบบ e-Payment เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งช่องทาง นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็น สังคมไร้เงินสด Cashless Society ได้เร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย

Retail CBDC

ท้ายนี้ การใช้ Retail CBDC เรียกได้ว่าเป็นมิติใหม่แห่งการเงินยุคดิจิทัล ที่ช่วยให้การใช้จ่ายของประชาชนสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานระบบชำระเงินใหม่ที่เข้าถึงง่าย มีความปลอดภัยสูง และสามารถรองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาต่อยอดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ นอกจากประโยชน์ที่ภาคประชาชนจะได้รับแล้ว ยังเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถต่อยอด และพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคตอีกด้วยครับ

Share

Contact Us